ความยั่งยืน อาชีพใหม่ของ มนุษย์ทองคำ ที่กำลังมาแรงในยุคโลกเดือด

กองบรรณาธิการ

ผู้เชี่ยวชาญจากตลาดหลักทรัพย์ฯ, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ไทยวา, เอไอเอส ที่ร่วมงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 ชี้ว่า ตลาดแรงงานไทยกำลังต้องการบุคลากรและผู้ประกอบการที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ESG ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อความอยู่รอดของทุกองค์กร

นายศุภกร เอกชัยไพบูลย์ รองผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาบริการด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา เรื่องราวของคนตัวเล็ก… สู่อาชีพตลาดความยั่งยืนในตลาดทุนไทย หนึ่งในกิจกรรมของ SUSTAINABILITY EXPO 2024 ว่า ปัจจุบัน ความยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ได้กลายมาเป็นกลยุทธ์หลักที่จำเป็นต่อความอยู่รอดและการเติบโตขององค์กร ธุรกิจไม่สามารถพึ่งพาแค่ผลกำไรในการอยู่รอดระยะยาวอีกต่อไป ขณะเดียวกัน กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยังมีผลบังคับใช้มากขึ้น ทำให้องค์กรต้องแสวงหาผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง

นายชนฉัตร ตันตระกูล ผู้ชำนาญการด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บมจ. แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า ตำแหน่งงานด้านความยั่งยืนจะมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่ต้องการขององค์กร เปรียบเสมือนเป็น gold collar หรือพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งนอกเหนือจาก white collar และ blue collar โดยทักษะสำคัญของผู้ประกอบอาชีพด้านความยั่งยืนคือความสามารถในการปรับตัวและความคล่องตัวหรือ agility และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นายนิราวัฒน์ นารอด นักวิเคราะห์กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวว่า ในอดีตงานความยั่งยืนเน้นที่การทำรายงานเป็นหลัก แต่ปัจจุบันงานด้านนี้ได้เชื่อมโยงกับธุรกิจมากขึ้น เช่น การออกแบบกลยุทธ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มยอดขายผ่านแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทำให้เกิดความต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้อย่างเร่งด่วน

“เราหาคนที่มีความรู้เรื่องความยั่งยืนขององค์กรยากเหมือนกัน เป็นตำแหน่งงานที่ยังขาดแคลน แต่ว่ามีผลตอบแทนที่แข่งขันได้ อันนี้กล้าการันตีเลยนะครับ” นายนิราวัฒน์กล่าว

โดยงานด้านความยั่งยืนสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่:

1. กลยุทธ์ความยั่งยืน: เน้นการวิเคราะห์และคิดค้นกลยุทธ์ที่สร้างสรรค์เพื่อองค์กร

2. การรายงานและการเปรียบเทียบ (benchmarking): เน้นความเข้าใจในมาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืน

3. กลุ่ม implementation คือพนักงานที่อยู่หน้างาน หรือเจ้าหน้าที่ในแผนกต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ด้านซีเอสอาร์

เจ้าหน้าที่ด้านการจัดการขยะ วิศวกรที่ดูแลเรื่อง decarbonization พลังงานหมุนเวียน  เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบภายใน  ซึ่งจำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะในแต่ละด้านที่รับผิดชอบ

โดย human skill คือทักษะที่คนทั้งสามกลุ่มนี้จำเป็นต้องมี เพราะงานด้านความยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานและการสร้างเครือข่ายกับผู้มีส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร

นางสาวสสินี ปานสายลม หัวหน้าหน่วยงานความยั่งยืน บมจ.ไทยวา กล่าวว่า นอกจาก hard skill หรือทักษะความรู้ทางเทคนิค เช่น มาตรฐานการรายงาน การทำงานต่าง ๆ  ซอฟต์สกิล เช่น การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน เป็นทักษะที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสำหรับคนทำงานด้านความยั่งยืน เนื่องจากการทำงานด้านความยั่งยืนไม่สามารถประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร

“ยกตัวอย่าง บริษัทไทยวา เราจะมีทีมฟาร์มที่อยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรมากที่สุด  ทีม sustainability ก็อาจจะต้องไปสื่อสารกับทีมฟาร์มว่าเราอยากจะเห็นภาพความยั่งยืนคืออะไร แต่เราก็ต้องรับฟังเค้าด้วยว่าความยั่งยืนของฝั่งฟาร์ม เค้ามองเห็นยังไง แล้วการที่จะส่งต่อไปถึงให้มันเป็นแรงกระเพื่อมส่งไปถึงเกษตรกรได้ เราจะต้องทำอะไรบ้าง มันจะเป็นเรื่องของการสื่อสาร แล้วก็มาช่วยกันคิดหาโซลูชันที่ดีที่สุด”

ตอบโจทย์ทั้งงาน ตอบโจทย์ทั้งใจ

นายชนฉัตรจาก AIS กล่าวเสริมว่างานความยั่งยืนที่ทำถือว่าตอบโจทย์ทั้งงาน ตอบโจทย์ทั้งใจ เพราะนอกจากจะมาสานต่อความฝันที่อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเป็นงานที่สามารถช่วยทั้งธุรกิจ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย

“ยกตัวอย่าง ‘โครงการคนไทยไร้ e-waste’ ที่ AIS ได้มีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงลูกค้าของเรา ในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ คีย์บอร์ด หรือว่า หูฟัง แกดเจ็ต ต่าง ๆ ไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ  ก็ถือว่าตอบโจทย์ทั้งเรื่องงาน ตอบโจทย์ทั้งเรื่องใจ แล้วก็ช่วยเหลือชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย”

#SUSTAINABILITYEXPO2024 #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share