วิจัยโลกล่าสุดชี้ การไม่เลือกปฏิบัติจะช่วยดันการส่งออก ได้คนเก่งมาทำงาน และขยายตลาดการท่องเที่ยวจากความแตกต่างหลากหลาย

กองบรรณาธิการ

องค์กร Open for Business ได้เผยแพร่รายงานวิจัยฉบับใหม่ ซึ่งนำเสนอการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเท่าเทียมสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า หากเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการส่งออกสินค้า การดึงดูดบุคลากร และการท่องเที่ยว เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 51,800 ล้านถึง 121,800 ล้านบาทต่อปี

• การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าและการรับมือกับการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ สามารถช่วยเสริมสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

• Open for Business ร่วมกับ Transtalents Consulting Group และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ได้เปิดตัวผลรายงานวิจัยที่กรุงเทพมหานคร

Open for Business ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของบริษัทชั้นนำระดับโลก ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยฉบับใหม่ที่นำเสนอการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการโอบรับความหลากหลายในประเทศไทย รายงานวิจัยนี้ประมาณการว่าประเทศไทยสูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจประมาณ 51,800 ล้านถึง 121,800 ล้านบาททุกปี อันเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

งานการเปิดตัวผลรายงานการวิจัยในวันนี้ เป็นงานที่จัดร่วมกันโดย Transtalents Consulting Group และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์โดยงานวิจัยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการวิจัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม ผลการวิจัยนำเสนอทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และชี้แจงผลสำรวจของปัจจัยหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ  

ยกตัวอย่างเช่น ตามข้อมูลของ Open for Business อัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5,000 ล้านบาทถึง 14,900 ล้านบาทต่อปี ในประเทศไทย ร้อยละ 11 ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรง

ในส่วนของการสูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับเอชไอวีและโรคเอดส์ มีมูลค่าระหว่าง 24,400 ล้านบาทถึง 73,200 ล้านบาท ซึ่ง ราคาที่ต้องจ่าย เหล่านี้เกิดจากความพิการและการสูญเสียรายได้ของทรัพยากรบุคคล ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าการเพิ่มมาตรการและการป้องกันปัญหาทางสุขภายมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

ช่องว่างของค่าจ้างที่มีอยู่ในประเทศไทย ระหว่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่มีเพศวิถีและเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด ก่อให้เกิดการสูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจประมาณ 22,500 ล้านบาทถึง 33,700 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

แม้ว่าปัญหาช่องว่างของค่าจ้างสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยจาก Boston Consulting Group ระบุว่าอีกหนึ่งปัญหาในภูมิภาคคือการขาดการแก้ไข เห็นได้จากโปรแกรมในที่ทำงานที่สนับสนุนพนักงานที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าโปรแกรมสนับสนุนผู้หญิงและกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ถึงครึ่งหนึ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม ผู้มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน

การเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถส่งผลกระทบในทางลบต่อการส่งออกสินค้า การดึงดูดบุคลากร และการท่องเที่ยว ประเทศที่มีชื่อเสียงที่ดีในเรื่องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ตระหนักถึงโอกาสทางเศรษฐกิจในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกมากขึ้น ประเทศไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีในเรื่องนี้ ประเทศไทยได้ริเริ่มแผนการตลาดสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตามข้อมูลของ Statista อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สเตฟานี กาเลรา หัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กร Open for Business กล่าวว่า เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งกับข่าวดีล่าสุดที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกเสริมที่ไม่เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร LGBTQ+ ในประเทศไทย แต่ยังช่วยเสริมสร้างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในหลายด้านอีกด้วย สิ่งนี้จะสร้างจุดแข็งให้กรุงเทพในการประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก เช่น งาน WorldPride เป็นต้น ขอชื่นชมผลงานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งจากภาคประชาสังคม ผู้กำหนดนโยบาย และภาคเอกชน เราหวังว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาในด้านอื่นๆต่อไปในอนาคต

นิกกิ ภิญญาปิญชาน์ ผู้ก่อตั้ง Transtalents Consulting Group กล่าวว่า เศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow economy) ไม่ใช่แค่เรื่องการเติบโตของเม็ดเงินมหาศาลเท่านั้น แต่เป็นการขับเคลื่อนความยุติธรรมเชิงเศรษฐกิจ ช่วยปลดล็อคศักยภาพ เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วมและอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับชุมชนที่เคยถูกกีดกันและริดลอนสิทธิและโอกาสที่ควรมีมาแต่ต้น ขณะเดียวกันประเทศก็จะมีทรัพยากรด้านคนที่หลากหลาย มีศักยภาพ สร้างสรรค์และสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านกฎหมายนี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ช่วยเร่งการพัฒนาทุนมนุษย์ สังคมและเศรษฐกิจในเวทีระดับโลกอีกด้วย การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้มีความหลากหลายทางเพศคือพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลที่จะเปลี่ยนโฉมของเศรษฐกิจโลกในอนาคตและเป็นการขับเคลื่อนที่ทรงอิทธิพลอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นี่คือการปฏิวัติที่เปลี่ยนอนาคตการทำงาน นวัตกรรม และเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง

ผศ.ดร. ดรูว์ บี มัลลอรี่ อาจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรและ Inclusion Ambassador สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ กล่าวว่า ในปีนี้ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ได้ร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในไทยและต่างประเทศเพื่อสร้างเครื่องมือส่งเสริมความหลากหลายสำหรับองค์กรและธุรกิจ (Inclusion Toolkit for Organizations and Business) โดยเสนอแผนการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับการส่งเสริมการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ รายงานฉบับนี้ว่าด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ให้ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจ เพื่อเป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์ที่องค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต้องการ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง”

คุณ มิรันดา พูลภักดี  Pride Lead จาก Accenture Thailand กล่าวว่า การสนับสนุนและเฉลิมฉลองชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่เพียงแค่ส่งเสริมการยอมรับ ความหลากหลาย และความเท่าเทียมเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจและประเทศที่ยอมรับความหลากหลายและการรวมกลุ่ม จะได้รับประโยชน์จากมุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ รวมถึงการตัดสินใจที่ดีขึ้น และผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักถึงการมีส่วนร่วมที่สำคัญของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีต่อประเทศและเศรษฐกิจของเรา

มิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิ APCOM กล่าวว่า ในเดือน Pride ปีนี้ในประเทศไทย เราได้เห็นการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชน สำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง และเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจจากภาพลักษณ์ของการเป็นสวรรค์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งจากการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และซีรีส์วาย (BL) สังคมที่มีการยอมรับความหลากหลาย คือสังคมที่มีความสุขและมีประสิทธิผลมากขึ้น และกฎหมายสมรสเท่าเทียมสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เพิ่งประกาศใช้ ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเปิดรับและเพิ่ม LGBTQ+ ให้เป็นหนึ่งใน Soft Power ที่น่าภาคภูมิใจของประเทศไทย

เพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณานโยบายที่สร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกคนและครอบคลุมถึงการบริการด้านสุขภาพจิต ความเท่าเทียมด้านค่าแรง และความหลากหลายในที่ทำงาน นอกจากนี้ ภาคเอกชนมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างการมีส่วนร่วมต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านโปรแกรมในองค์กร การริเริ่มโครงการเพื่อความเท่าเทียมนั้นคุ้มค่าเพื่อมีหลักฐานเชิงเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นแล้วว่าทีมที่มีความหลากหลายช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมและเพิ่มผลประกอบการทางการเงิน

#องค์กรOpenforBusiness #LGBTQ+ #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share