ดีอีเอส ร่วม กสทช.-ไอเอสพี-โอเปอเรเตอร์ หารือแก้ปัญหาพนันออนไลน์

กองบรรณาธิการ

ดีอีเอสหารือแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ไอเอสพี และ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ หรือโอเปอเรเตอร์ทุกราย หาแนวทางบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เผยเดือนที่ผ่านมาร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บุกทลายพนันออนไลน์ 20 รายใหญ่ทั่วประเทศ วงเงินหมุนเวียนกว่าพันล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (9 กันยายน 2563) ได้ประชุมหารือแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ระหว่าง กสทช. กับไอเอสพี และโอเปอเรเตอร์ทุกราย เพื่อหาแนวทางความร่วมมือแก้ปัญหานี้ที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในยุคที่การพนันออนไลน์เข้าถึงเหยื่อได้ง่ายขึ้น และสร้างความเสียหายรุนแรงขึ้นผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถดำเนินการจับกุมพนันออนไลน์กว่า 20 รายใหญ่ทั่วประเทศ วงเงินหมุนเวียนกว่า 1,000 ล้านบาท ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การพนันฯ

“กระทรวงดีอีเอส ตระหนักถึงปัญหาการพนันออนไลน์มีผลกระทบมากมาย ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างความเดือดร้อนแก่คนในครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ได้หารือกับท่าน ผบ.ตร. (พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา) และ ผอ.ศปอศ.ตร. (พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข) ในการปราบปรามและทำการสืบสวนจนนำไปสู่การจับกุม” นายพุทธิพงษ์กล่าวและว่า

การแก้ไขปัญหาพนันออนไลน์ ต้องมีการบูรณาการเพื่อร่วมกันออกมาตรการในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันการพนันออนไลน์ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทวิ และผู้ที่ทำการโฆษณาหรือชักชวนผู้อื่นเล่นพนัน มีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไข พ.ศ. 2560) มาตรา 20 (3) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 20 ไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงในเรื่องนี้ แต่ระบุให้ต้องมีหน่วยงานอื่นต้องมาแจ้งความก่อน และบทลงโทษต้องใช้กฎหมายอื่นมาประกอบ

ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยข้อมูลในระหว่างงานเสวนาจัดโดยกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายเยาวชนรวม 6 เครือข่าย เกี่ยวกับผลสำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน กับการใช้สื่อออนไลน์ในช่วงโควิด-19 พบว่า ช่องทางที่พบเห็นโฆษณาให้เล่นพนัน เป็นเฟซบุ๊กมากที่สุด ร้อยละ 76.53 รองลงมาคือเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ร้อยละ 70.64 และไลน์ ร้อยละ 32.50

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเนื้อหาผิดกฎหมายเพิ่มเติม ล่าสุดกระทรวงฯ เตรียมส่งหนังสือแจ้งเตือน (ชุดที่ 3) ไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางเผยแพร่รวม  3,097 รายการ (ยูอาร์แอล) แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 1,748 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 607 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 261 ยูอาร์แอล และเว็บอื่นๆ 481 ยูอาร์แอล โดยเนื้อหาผิดกฎหมายเหล่านี้ ครอบคลุมทั้ง หมิ่นสถาบัน, ลามก, การพนัน, ยาเสพติด และลิขสิทธิ์

ขณะที่ เฉพาะการแจ้งเบาะแสในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 29 สิงหาคม–7 กันยายน 2563)  มีข้อมูลแจ้ง จำนวน  1,541 ยูอาร์แอล โดยเป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย จำนวน 1,331 ยูอาร์แอล และตรวจสอบพบว่าเข้าข้อกฎหมาย 210 ยูอาร์แอล  ประกอบด้วย เฟซบุ๊ก 161 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 29 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 2 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 18 ยูอาร์แอล  โดยศาลมีคำสั่งแล้วจำนวนรวม 106 ยูอาร์แอล และอยู่ระหว่างยื่นขอหมายศาล 104 ยูอาร์แอล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share