เอ็นไอเอ ร่วมเอกชน สร้างฟู้ดอิโคซิสเต็ม หนุนกรุงเทพฯ สู่ ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์

กองบรรณาธิการ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในการร่วมสนับสนุนโครงการสเปซ-เอฟ รุ่นที่ 2 ซึ่งถือเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนชั้นนำของประเทศ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในการสร้างนวัตกรรมอาหารที่ผสานเทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลกที่ต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความปลอดภัยในยุคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เสริมทัพสนับสนุน และพร้อมเดินหน้ายกระดับกรุงเทพฯ จาก “ฟู้ดพาราไดส์” ให้กลายเป็น “แบงค์คอกฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่มีศักยภาพและโอกาสอย่างมากในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ในด้านเทคโนโลยีระดับสูง (Deep technology) เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตอย่างยั่งยืน จากคำพูดว่า “อาหารเป็นยา และยาก็คืออาหาร” เรียกได้ว่าเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องกับโครงการ “สเปซ-เอฟ” ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ผ่านมา เอ็นไอเอได้ร่วมมือกับนักลงทุนจากอิสราเอล เปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ระดับโลกครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “SPARK” เพื่อพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับสากล โดยสตาร์ทอัพจากทั้ง 2 รุ่น ได้รับความเชื่อมั่น ชื่อเสียง และการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ NIA ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพกลุ่ม DeepTech อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง จึงได้ร่วมกับพันธมิตรริ่เริมโครงการ “สเปซ-เอฟ” ขึ้น โดยปีนี้จัดเป็นรุ่นที่ 2 เน้นพัฒนาใน 9 เทรนด์หลัก ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่ ๆ การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร  และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะมีพันธมิตรเดิมที่เข้มแข็งอย่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังได้ 3 พันธมิตรใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยบริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างให้เกิดการยอมรับในระดับสากลในด้านการพัฒนาและการลงทุนด้านนวัตกรรมอาหาร นอกจากนี้ NIA ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ดำเนินโครงการ “Smart VISA” สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงด้านสตาร์อัพและเทคโนโลยี

สำหรับวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการสเปซ-เอฟ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.ต้องการสร้างผู้ประกอบการด้านอาหารในประเทศให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ประกอบด้านอาหารในประเทศมีจำนวนน้อยมาก 2. ดึงสตาร์ทอัพในต่างประเทศเข้ามาในโครงการ เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยได้เรียนรู้แนวทางการทำงาน การขอทุน รวมทั้งการประสานงานกับนักลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารของสตาร์ทอัพในลำดับต่อไป  3. เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้เป็น กลายเป็น “แบงค์คอกฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” เพราะปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโยลีด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียมีเพียงไทยและสิงค์โปรเท่านั้นที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งหากสามารถผลักดันให้เกิดได้จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียต่อไป อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด-19 ยังมีส่วนเป็นตัวเร่งที่ทำให้การพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการให้บริการ การผลิตและจำหน่ายอาหาร รวมถึงเทรนด์เทคโนโลยีด้านอาหารในอนาคตที่บริษัทขนาดใหญ่กำลังมองว่าการแปรูปอาหารแนวใหม่ ๆ เช่น การสร้างโปรตีนจากแมลง  การสร้างโปรตีนจากพืช เป็นสิ่งที่จำเป็นและสามารถต่อยอดได้ในอนาคต โดยเทคโนโลยีด้านนี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีเชิงลึกที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสอันดีของสตาร์ทอัพ เนื่องจากโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ล้วนพัฒนามาจากปัญหา ซึ่งหากจับแนวทางได้ก็เชื่อว่าประเทศไทยและในระดับสากลจะเห็นสิ่งแปลกใหม่ในวงการอุตสาหกรรมเกิดขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก

 ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ของโครงการสเปซ-เอฟ ที่ไทยยูเนี่ยนได้ก่อตั้งขึ้นร่วมกับภาครัฐ นับเป็นปีที่อุตสาหกรรมอาหารต้องเผชิญความท้าทายหลายประการจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้ทั่วโลกต้องปรับตัวเข้ากับ new normal รวมถึงการผลิตอาหารด้วยความยั่งยืนและนำนวัตกรรมมาเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นวัตกรรมและกระบวนการใหม่ ๆ รวมถึงความปลอดภัยในการผลิตอาหารจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น นับเป็นเวลาที่ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วต้องร่วมมือกัน ไทยยูเนี่ยนมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสเปซ-เอฟ และขอต้อนรับภาคเอกชนที่ปีนี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นฟู้ดเทคซิลิคอนแวลเลย์ ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้ยั่งยืนต่อไป

 ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการสเปซ-เอฟ เป็นโครงการที่เป็นศูนย์รวมให้องค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามาแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านการเงิน ไทยเบฟมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสเปซ-เอฟ เพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไทยเบฟได้ดำเนินธุรกิจโดยนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ มาปรับใช้เป็นแนวทางกำหนดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การเข้าร่วมโครงการสเปซ-เอฟ ในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสที่ดีให้ไทยเบฟได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้ไทยเบฟบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกกำลังร่วมผลักดันโครงการ SPACE-F ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ที่เน้นส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหารและการจัดการธุรกิจอาหาร โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายสูงสุดของประเทศ ในการก้าวขึ้นสู่การเป็นฟู้ดเทคซิลิคอนแวลเลย์ด้านเทคโนโลยีอาหารแห่งแรกของประเทศไทยที่มีเครือข่ายระดับโลก และเป็นโครงการสำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จสู่ระดับนานาชาติได้ นอกจากช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจจากฐานรากด้านเกษตรและอาหารที่มั่นคงของประเทศไทยแล้ว โครงการ SPACE-F ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำองค์ความรู้เชิงวิชาการและงานวิจัยทีสั่งสมในองค์กรมาใช้ ทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและบุคลากรรุ่นใหม่ของประเทศได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะผู้ร่วมโครงการ จึงยินดีสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและการวิจัย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่พร้อมให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมในโครงการฯ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ SPACE-F คือการประสานพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับธุรกิจ ที่จะช่วยนำไปสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share