บีเอสเอ เปิดโครงการ ASEAN Safeguard หนุนใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์

กองบรรณาธิการ

บีเอสเอ กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ (BSA | Software Alliance) ผู้นำในการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลก จัดโครงการ ASEAN Safeguard หรือโครงการติดเกราะป้องกันภัยไซเบอร์แก่ธุรกิจทั่วอาเซียน เพื่อให้คำปรึกษาฟรีแก่องค์กรธุรกิจกว่า 40,000 บริษัทในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยบีเอสเอจะให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผ่านโครงการ ASEAN Safeguard ซึ่งริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ สามารถเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ทั่วทั้งองค์กร

จากข้อมูลของพันธมิตรบีเอสเอ เช่น IBM และ McAfee พบว่าภัยคุกคามไซเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทวีความรุนแรงขึ้นจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ลิขสิทธิ์) อย่างแพร่หลาย ซึ่งมักมาพร้อมกับมัลแวร์หรือช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่เปิดโอกาสให้แฮกเกอร์โจมตีได้ง่าย ในปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยประมาณ 66% ยังคงใช้ซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์และมีความเสี่ยงดังกล่าวอยู่

ดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ กล่าวว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้วิถีการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก บีเอสเอจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก โดยการที่องค์กรต่างๆ มีการทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นและสร้างวิถีใหม่ของการปรับใช้นโยบายทำงานจากบ้าน ทำให้ธุรกิจต่างๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงถูกโจมตีทางไซเบอร์ผ่านกลลวงออนไลน์ที่ซับซ้อนและแยบยลขึ้น พร้อมสร้างความเสียหายทางธุรกิจได้มากกว่าเดิม โครงการ ASEAN Safeguard จึงริเริ่มขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ โดยพร้อมให้ความสนับสนุนตลอดกระบวนการทำซอฟต์แวร์ให้ถูกลิขสิทธิ์ และช่วยป้องกันความเสียหายจากภัยโจมตีทางไซเบอร์ได้

ทั้งนี้ บีเอสเอยังได้เปิดเว็บไซต์เฉพาะกิจ เพื่อแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับภัยไซเบอร์และความเสี่ยงต่างๆ จากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์อีกด้วย ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แจ้งข้อมูล หรือนัดหมายกับที่ปรึกษาจากบีเอสเอผ่าน [https://cyberfraudprevention-bsa.com/?lang=th]

ด้านไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 และช่วงการฟื้นฟูภายหลังจากวิกฤตินี้ พบว่าอัตราการใช้งานเครือข่ายออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้อาชญากรไซเบอร์ฉวยโอกาสเข้าไปทำความเสียหายหรือขโมยข้อมูลสำคัญของผู้ใช้งาน ทั้งในส่วนขององค์กรและของส่วนบุคคล โดยผู้ใช้งานไม่รู้ตัว และเป็นการยากที่จะทำการแก้ไขหรือกู้ข้อมูลดังกล่าวกลับคืนมา อีกทั้งอาชญากรอาจนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงควรให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกันจากภัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ มิให้เข้าไปสร้างความเสียหายกับข้อมูลและระบบการใช้งานของทั้งส่วนตัวและองค์กร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share