กองบรรณาธิการ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เปิดโมเดลนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อเป็นการวางรากฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงสังคมอย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เปราะบาง ผ่านโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมโดยอาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม และเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม พร้อมเปิดตัวโครงการ “SHE: อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง” ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในการมอบโอกาสการมีงานทำและรายได้ให้กับกลุ่มสตรีมุสลิมภาคใต้ชายแดน และอดีตผู้ต้องขังหญิง โดยนวัตกรรมดังกล่าว เป็นการดัดจัดสรีระให้กับผู้เจ็บป่วยและมีอาการเมื่อยล้าในระยะเวลาอันสั้น ตอบโจทย์กับผู้ที่ทำงานในออฟฟิศ และลดเวลาในการเดินทางเพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล
วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมนวัตกรรมของ NIA นอกจากจะมุ่งสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่ NIA มุ่งเน้นอีกหนึ่งมิติก็คือ การพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนการผลักดันโอกาสผ่านนวัตกรรมให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้ได้รับความเท่าเทียมในสังคม สำหรับการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมเพื่อสังคมของ NIA มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม และโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน โดยทำงานร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จทั้งในเชิงการนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายและการขยายผลได้เป็นอย่างดีคือ โครงการ SHE อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง
“นวัตกรรมดังกล่าว เป็นนวัตกรรมสำหรับการสร้างอาชีพบริการเสริมด้านการดัดจัดสรีระ สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับครอบครัวที่เป็นเกษตรกร หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่มั่นคงในชุมชนได้ตลอดทั้งปี สามารถต่อยอดเป็นงานบริการหรือประยุกต์เป็นอาชีพเสริม พร้อมกระจายองค์ความรู้ที่ได้รับไปสู่กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเดียวกันได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้สังคมได้เห็นถึงศาสตร์ใหม่ในการรักษาและดูแลร่างกาย ทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้นอีกทั้งยังตอบโจทย์สิ่งที่ขึ้นชื่อและเป็นอัตลักษณ์ของไทยอย่างการ “นวด” ให้เติบโตไปอีกขั้น” วิเชียร กล่าว
ด้าน พูลชัย จิตอนันตวิทยา ผู้พัฒนาโครงการ SHE อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง กล่าวว่า นวัตกรรม “SHE” หรือการดัดสรีระผ่อนคลายกล้ามเนื้อภายใน 10 นาที เกิดจากแนวคิดที่ต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มมนุษย์ออฟฟิศที่ร่างกายสะสมความเครียดเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน รวมไปถึงโรคหัวใจ (จากข้อมูลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศพบว่ามีประชากรวัยทำงานเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง มากถึง 6,500 คนต่อวัน) ซึ่งคนที่มีความเครียดยังมักจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้นต่างๆ มีความตึงและเจ็บปวด นวัตกรรมนี้จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการนำโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมมาช่วยในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน รวมถึงกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพในสังคมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
พูลชัย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ SHE เป็นการผสมผสานองค์ความรู้และเทคนิคกายวิภาคศาสตร์ดัดจัดสรีระเทคนิคของการยืดเหยียดแบบ Sport Medicine ร่วมกับการกดจุด Trigger Point เพื่อสั่งให้สมองเปลี่ยนคำสั่งจากกล้ามเนื้อตึงให้เป็นกล้ามเนื้อหย่อน การสลายจุด Trigger Point ในกล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับได้สนิทขึ้น เพราะเป็นการปรับสมดุลระบบประสาทอัตโนมัติใหม่ เมื่อทำสม่ำเสมอประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะดีขึ้น ใช้เวลาเพียง 10 นาที ในการคลายความเมื่อยล้า นอกจากนี้ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อยังช่วยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับพนักงานออฟฟิศ ผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงคนทั่วไปที่ใช้กล้ามเนื้อในการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันได้มีองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในภาครัฐ และเอกชนได้นำนวัตกรรมนี้ไปขยายผลสำหรับบุคลากรที่มีปัญหาเจ็บป่วยจากการทำงานซึ่งได้รับผลตอบรับและการยืนยันจากกลุ่มผู้ใช้งานจริงว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม