จิรพรรณ บุญหนุน
กองบรรณาธิการ
เอไอเอส ส่งแคมเปญใหม่ “เอไอเอส E-Waste ทิ้งรับพอยท์” แทนคำขอบคุณลูกค้าที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีไปพร้อมกัน เพียงคัดแยกและนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ ไปทิ้งที่เอไอเอสช็อปใกล้บ้านรับฟรีทันที AIS Points ชิ้นละ 5 คะแนน
นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวว่า ในปี 2559-2562 ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ทำการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (AIS E-Waste Management) ทั้งสิ้น 710 ตัน โดยแบ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของหน่วยงานภายใน (Operation) จำนวน 707 ตัน โดยขยะจำนวนดังกล่าวสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 96 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถรีไซเคิลได้ 4 เปอร์เซ็นต์ และขยะอิเล็คทรอนิกส์ที่เกิดจากผู้ใช้งานทั่วไป 3 ตัน หรือประมาณ 60,000 ชิ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและทำให้การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เอไอเอสตั้งเป้าที่จะลดอัตราการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ จาก 4 เปอร์เซ็นต์ลดเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยลดการใช้วัตถุดิบในการทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่นอกจากจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกเจเนอเรชันแล้ว เอไอเอสยังให้ความสำคัญกับบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะใช้ขีดความสามารถของบริษัทและการพัฒนานวัตกรรมร่วมจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการดำเนินงานที่รัดกุมทั้งระบบ ตั้งแต่ภายในองค์กร คู่ค้า รวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ
เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนในระยะยาว
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่นอกจากจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีก็จะเกิดการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่แผ่นดินและแหล่งน้ำอัน
จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกที่
เอไอเอส มีแผนที่จะจัดประกวด Miss E-Waste เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัยด้วย
จากรายงานของ The Global E-Waste Monitor 2020 มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nation University, UNU) คาดการณ์ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะมีมากถึง
53.6 ล้านเมตริกตัน ในปี 2019 และจะสูงขึ้นถึง 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 2030 โดยทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดกว่า 24.9 ล้านเมตริกตัน ในปริมาณขยะทั้งหมดมีเพียงร้อยละ 17.4 ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 82.6 ไม่สามารถติดตามได้
สมชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เอไอเอส มุ่งมั่นในการลดผลกระทบที่เกิดจากของเสียในการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังจัดทำโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” เพื่อเป็นแกนกลางอาสารับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากคนไทย ไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill ทั้งระบบ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน เอไอเอส สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากโครงข่ายและการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการรับจากคนไทยทั่วประเทศ ไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผ่านกระบวนการที่ได้รับมาตรฐานระดับโลกรวมทั้งสิ้นกว่า 710 ตัน
ล่าสุด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและขอบคุณกลุ่มลูกค้ากว่า 41 ล้านราย เราจึงเปิดตัวแคมเปญใหม่ “เอไอเอส E-Waste ทิ้งรับพอยท์” ที่ร่วมภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญไปกับเอไอเอส เปลี่ยนทุกการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points ใน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ ไปยังเอไอเอสช็อปใกล้บ้าน
2. แจ้งกับพนักงานว่าต้องการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง
3. นำขยะหย่อนลงถัง และสแกน QR Code เพื่อรับ AIS Points จากแท็บเล็ตของพนักงาน ซึ่งจะแสดงผลจำนวน AIS Point ที่ได้รับทันทีผ่าน Notification โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดรวม AIS Point ได้ที่ App My AIS
โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้นมีค่า 5 คะแนน 1 หมายเลขสามารถรับ AIS Points ได้สูงสุด
10 คะแนนต่อวัน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563
ทั้งนี้ยังเน้นให้ความรู้การทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยตามหลักสากล ใน 3 ขั้นตอน คือ
1. ลบข้อมูลและภาพออกจากโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต (Format and Factory Reset)
2. ถอดเมมโมรี่การ์ดออกออกก่อนทิ้งทุกครั้ง
3. หากโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ และพาวเวอร์แบงก์ มีลักษณะผิดปกติ เช่น บวม หรือ เปลี่ยนสี ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ ประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน และนำใส่ถุงหรือห่อกระดาษก่อนนำไปทิ้ง
ปัจจุบันโครงการ คนไทยไร้ E-Waste มีภาคีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกว่า 52 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะร่วมสร้างการตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอยู่รวมกันกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ
“ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นในทุกปี หากเรายังนิ่งเฉย ละเลย และไม่รีบนำขยะเหล่านั้นไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาอาจจะสายเกินแก้ ผมขอเป็นตัวแทนชาวเอไอเอส เชิญชวนทุกท่านมาร่วมปฏิบัติภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญ โดยการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ หูฟัง หรือพาวเวอร์แบงก์ มาร่วมกำจัดกับเราได้กว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ” สมชัย กล่าว