กองบรรณาธิการ
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในภาพรวมของทั้งประเทศ ด้วยการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตลอดจนยังทำหน้าที่เป็น System Integrator ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SME ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประจำปี (Action Plan) เป็นเครื่องมือสำคัญในการบูรณาการและเชื่อมโยงความช่วยเหลือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุน SME เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริม SME ของประเทศ
“ในปี 2567 นี้ ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี ซึ่ง สสว. ได้บูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การเอกชน จำนวนกว่า 30 หน่วยงาน มีโครงการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ รวมจำนวนกว่า 100 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท ด้วยเป้าหมายหลักร่วมกันคือการเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SME จาก 35.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 37.0 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2567 ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลโครงการต่าง ๆ เผยแพร่ไปสู่ผู้ประกอบการ SME และผู้สนใจ สสว. จึงจัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ SME POWER UP: ENERGIZING THAILAND ECONOMIC FUTURE ปลุกพลัง ปรับแนวคิด ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต ขึ้นในวันนี้ (11 มิถุนายน 2567)” รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. กล่าว
สำหรับแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี 2567 ได้ให้ความสำคัญกับการปรับตัวของ SME ให้สอดรับกับสถานการณ์โลก โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นการส่งเสริม 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
ประเด็นแรก มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างมั่นคง ยกระดับการแข่งขันทั้งในประเทศและระดับโลก ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหา และช่วยเหลือธุรกิจยังชีพ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรกร
ประเด็นที่สอง มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้า โดยสนับสนุนการตลาดและการเข้าสู่สากล เพื่อให้ SME ที่มีศักยภาพสามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ประเด็นที่สาม มุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนการเติบโตของ SME ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร การให้ข้อมูลและบริการ การปรับปรุงกฎหมาย และการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุน นโยบาย
ประเด็นสุดท้าย มุ่งเน้นการส่งเสริม SME ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Soft power) และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง
“เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี 2567 ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ ให้เติบโต เข้มแข็ง อย่างยั่งยืนเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป” รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. กล่าว
#สสว. #ThaiSMEs