NZAero ลงนามข้อตกลงส่งออกมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมแกร่งกองทัพอากาศไทย

กองบรรณาธิการ

ภาคการบินของนิวซีแลนด์เตรียมเพิ่มการส่งออกมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากการลงนามในข้อตกลงทางธุรกิจ ร่วมกับ บริษัทอุตสาหกรรมการบินไทย จำกัด (TAI) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบำรุงรักษาเครื่องบินให้กับกองทัพอากาศไทย บันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับใหม่นี้ ลงนามระหว่าง บริษัทอุตสาหกรรมการบินไทย จำกัด (TAI) ซึ่งเป็นองค์กรบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่อง (MRO) ของประเทศไทย และ บริษัท NZAero ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์เพียงรายเดียวของนิวซีแลนด์ โดยจะครอบคลุมการจัดหาชิ้นส่วนแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งความร่วมมือในการขยายขีดความสามารถ MRO ของ TAI ในการให้บริการและซ่อมแซมเครื่องบินของรัฐบาลในประเทศไทย

ข้อตกลงดังกล่าว ลงนามของคณะผู้แทนธุรกิจจากประเทศนิวซีแลนด์ นำโดยนายกรัฐมนตรี คริสโตเฟอร์ ลักซอน ที่ได้มาเยี่ยมเยือนสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ การเยือนทางการทูตครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีในภูมิภาค กระจายการค้า และส่งเสริมความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมที่แข็งแกร่งของนิวซีแลนด์ในภาคส่วนสำคัญ ๆ รวมถึงการผลิตและเทคโนโลยี

 นายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอน กล่าวว่า นิวซีแลนด์มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรูปแบบที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่แท้จริง และยกระดับความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน บันทึกความเข้าใจที่ลงนามโดย NZAero ในประเทศไทย ถือเป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในทุกด้าน

สตีเฟน เบอร์โรวส์ ซีอีโอของ NZAero เผยว่า รัฐบาลไทยได้เปิดตัวแผนการสร้างศูนย์กลางการบินระดับโลกสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน พร้อมงบประมาณด้านกลาโหมประจำปีมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยระบุว่า ข้อตกลงระยะยาวฉบับใหม่ที่ลงนามระหว่างบริษัท อุตสาหกรรมการบินไทย จำกัด และ NZAero มีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าชิ้นส่วนและการส่งออกการบำรุงรักษาไปยังตลาดดังกล่าวเป็นสามเท่า และช่วยกระชับความสัมพันธ์ของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อถถึงเวลาที่ฝูงบินที่มีอยู่นั้นยุติลง เครื่องบินยูทิลิตี้ใหม่จะกลายเป็นตัวเลือกที่ดีในการทดแทน โดยข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ NZAero เป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนมากกว่า 800 ชิ้นให้กับฝูงบิน CT4 Airtrainer ของประเทศไทย เพื่อใช้ในการปฏิบัติการฝึกทหาร

“บริษัทซ่อมการบินอื่น ๆ ของนิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์จากสัญญาการบำรุงรักษาตามปกติ ไปจนถึงการยกเครื่องเครื่องยนต์ โดยเครื่องยนต์เดี่ยวอาจมีราคาสูงถึง 100,000 เหรียญสหรัฐในการยกเครื่อง และประเทศไทยมีเครื่องบินเหล่านี้ที่ใช้งานอยู่กว่า 24 ลำ” สตีเฟนกล่าวเสริม

จากข้อมูลของสตีเฟน แม้ว่านิวซีแลนด์จะมีประวัติยาวนานถึง 50 ปีในฐานะซัพพลายเออร์ด้านการบินให้กับประเทศไทย โดยกองทัพอากาศได้ซื้อเครื่องบินที่ผลิตในนิวซีแลนด์จำนวน 72 ลำและชิ้นส่วนมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดีนี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีข้อตกลงพิเศษด้านอะไหล่และการบริการที่ได้ถูกทำให้เป็นทางการในลักษณะนี้ ดังนั้น โอกาสในการขยายความสัมพันธ์ด้านอุปทานที่มีอยู่ระหว่างนิวซีแลนด์และไทยจะช่วยเพิ่มมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ให้กับรายได้จากการส่งออกของภาคส่วนดังกล่าว และจะได้เห็นการสร้างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบตำแหน่ง รวมถึงการขยายตัวที่สำคัญของอุตสาหกรรมในท้องถิ่นต่อไป

“การลงทุนของประเทศไทยในอุตสาหกรรมการบินคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในระยะสั้น โดยไทยมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงกองกำลังป้องกันให้ทันสมัย และจัดสรรเงินประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ให้กับกองทัพอากาศในแต่ละปี ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับนิวซีแลนด์ในการขยายส่วนแบ่งในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องการให้ภาคการบินพาณิชย์กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคภายใน 5 ปีข้างหน้า และมีแผนจะเปลี่ยนโฉมสนามบินหลักในกรุงเทพฯ และภูเก็ต โดยคาดหวังโอกาสอื่น ๆ สำหรับนิวซีแลนด์ในการสนับสนุนปณิธานนี้ ในขณะที่อุตสาหกรรมของพวกเขากำลังเติบโตขึ้นเช่นกัน” สตีเฟนกล่าว

สตีเฟนยังเผยอีกว่า การใช้จ่ายด้านกลาโหมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเทคโนโลยีการบินที่ออกแบบโดยนิวซีแลนด์ก็มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนความต้องการด้านมนุษยธรรมที่นำโดยทหารของพันธมิตรในภูมิภาค เช่นเดียวกับการช่วยแก้ไขผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศ

ด้วยดัชนีความร้อนที่สูงและความแห้งแล้งที่เพิ่มมากขึ้น คุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน ทางภาครัฐได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยโครงการปลูกเมฆประจำปีที่ริเริ่มโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งใช้ฝูงบินทำฝนจำนวน 30 ลำ ทั้งนี้ NZAero หวังว่าเครื่องบิน SuperPac XSTOL (การบินขึ้นและลงจอดระยะสั้นมาก) ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ออกแบบมาสำหรับพื้นที่สูงและสภาพอากาศร้อน จะเป็นทางออกที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาแล้งของประเทศไทย ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่า การจัดเตรียมอัตโนมัติ และการแปลงอย่างรวดเร็วสำหรับงานต่าง ๆ สตีเฟนเชื่อว่าสิ่งนี้จะสามารถลดการพึ่งพากองบินปัจจุบันของประเทศไทยลงได้อย่างมาก กว่า 50%

“ทาง NZAero กำลังมองหาการปรับแต่งเทคโนโลยีการทำฝนสำหรับประเทศไทย โดยใช้พลุติดตั้งบนเครื่องบินซึ่งสามารถติดตั้งจากด้านหลังของเครื่องบินออกสู่ชั้นบรรยากาศ ในช่วงที่ภัยแล้งหรือในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรง” สตีเฟนกล่าว

 #NZAero #บริษัทอุตสาหกรรมการบินไทย จำกัด #TAI #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share