ทรู  ดัน AI แพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนธุรกิจ คาดปี 2570 รายได้จากบริการดิจิทัล AI มีสัดส่วน 30% ของบริการดิจิทัล

กองบรรณาธิการ

ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดตัวโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (AI) พลิกโฉมการบริการลูกค้าและเพิ่มขีดความสามารถยกระดับศักยภาพของประเทศไทย ในงาน “AI Gets Real” เผยโชว์เคส ผู้ช่วยบริการลูกค้า AI อัจฉริยะ และโซลูชันการค้าปลีกอัจฉริยะ รวมถึงคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี AI โดยทรู คอร์ปอเรชั่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของ AI ที่จะช่วยผลักดันความสำเร็จขององค์กร และได้ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนการทำงานประจำให้เป็นในรูปแบบอัตโนมัติ 100% ภายในปี 2570 ยิ่งไปกว่านั้น ทรู ยังมุ่งมั่นเติมเต็มศักยภาพภาคธุรกิจไทย ด้วยโซลูชันอัจฉริยะของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรต่างๆ ให้สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด โดยคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า รายได้จากบริการดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของบริการดิจิทัล

นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์  ช่วยให้ทรู ดิจิทัล สามารถทรานฟอร์มประสบการณ์ลูกค้าได้อย่างสิ้นเชิงในทุกบริการ ตอกย้ำความตั้งใจของทรู ดิจิทัล ในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนลดช่องว่างและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งหลักการออกแบบ AI คือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากหลากหลายแหล่ง บนพื้นฐานของจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งเทคโนโลยี AI สามารถนำมาสร้างระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์อย่างมีจริยธรรม ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง โดยมีการนำไปใช้จริงแล้วในหลากหลายกรณีศึกษา สะท้อนชัดถึงศักยภาพของทรู ดิจิทัลในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็น Data-AI Integrator ที่สามารถบูรณาการเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ยุค AI First ได้อย่างเต็มรูปแบบ

AI Now: เผยผลสำเร็จจากโซลูชันอัจฉริยะที่เกิดขึ้นจริงแล้ววันนี้

นายเอกราช กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มีจุดยืนที่ชัดเจนที่จะช่วยทรานสฟอร์มธุรกิจให้ก้าวสู่ AI อย่างก้าวกระโดด โดยดึงอัจฉริยภาพและคุณสมบัติที่โดดเด่นของเทคโนโลยี AI ด้านความเชี่ยวชาญในการประมวลผลและวิเคราะห์ฐานข้อมูลมหาศาล มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำข้อมูลจากหลากแหล่งมาวิเคราะห์และประมวลผลเชิงลึก เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเสริมแกร่งการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลได้อย่างตรงใจ  พร้อมยกระดับประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (hyper-personalized)  เพิ่มผลิตผล รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

บริการในรูปแบบ Virtual และเพื่อนร่วมงานเสมือน (Virtual Service and Virtual Colleagues)

นายเอกราช กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อน AI มี 6 ปัจจัยที่มีความสำคัญประกอบด้วย 

1. การนำ AI เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจ

2. ให้คนมีความเข้าใจในการใช้ AI

3. เตรียมข้อมูลให้พร้อม ทำข้อมูลที่ตรงประเด็น

4. ลงทุนและใช้ประโยชน์จากกานลงทุนให้คุ้มค่าและมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ

5. องค์กรจะต้องมีระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม ทำให้สามารถใช้ AI จากนวัตกรรมได้

6. สร้าง AI ที่มีความรับผิดชอบใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำไปใช้ถูกต้อง

“สำหรับการลงทุนด้าน AI ทั่วโลกมีมูลค่า 934.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2033 การใช้งานของ AI จะมีมูลค่าที่ 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

มีความต้องการบุคลากร AI ทั่วโลกที่ 97 ล้านคน และ ChatGPT แอพพลิเคชันมีคนใช้งานที่ 100 ล้านคนภายใน 2 เดือนหลังจากที่มีการเปิดตัว” นายเอกราช กล่าว

นายปิยะพันธุ์ นาคะโยธิน หัวหน้าสายงานด้านบริการลูกค้า บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เปิดเผยถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับจุดเปลี่ยนในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ซึ่ง ทรู ได้พัฒนานวัตกรรมผู้ช่วยบริการลูกค้า AI อัจฉริยะ “Mari” (มะลิ) ที่สามารถให้บริการทั้งในระบบแชต และบริการแบบเสียงโดยใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ จดสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ True Voice 

“เราทุ่มเทและพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่าจากผู้ช่วยบริการลูกค้าอัจฉริยะ Mari ที่มีทั้งน้ำเสียงและคุณภาพในการให้บริการเสมือนบริการจากทีมงานบริการลูกค้า โดยปัจจุบัน 

ทรู ได้เริ่มให้บริการลูกค้าบางกลุ่มผ่านระบบเสียงของ Mari และจะขยายบริการสู่กลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ควบคู่กับศักยภาพและความสามารถของ Mari ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการได้เรียนรู้และสื่อสารกับผู้ใช้บริการทรู ยิ่งไปกว่านั้น Mari ยังเป็นผู้ช่วยบริการลูกค้าอัจฉริยะ AI หนึ่งเดียวในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยที่มีความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์ และสามารถให้ความช่วยเหลือ เช่น เปรียบเทียบแพ็กเกจบริการที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้า

นายบัณฑิต แพงป้อง หัวหน้าสายงานด้านไอทีและความปลอดภัย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เล่าถึงเทคนิคของทีมงานทรู คอร์ปอเรชั่น ที่นำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในการพัฒนาโซลูชันให้สำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วยิ่งขึ้น “AI ช่วยลดเวลาการทำงานจากเดิมที่เคยใช้ระยะเวลาเป็นวันๆ หรือหลายสัปดาห์ ให้เหลือเพียงภายในไม่กี่ชั่วโมง อีกทั้งการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ขึ้นเองภายในบริษัท ยังทำให้มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ตลอดจนช่วยให้นักพัฒนาของเราสามารถต่อยอดสร้างสรรค์และส่งมอบโซลูชันใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า นอกจากนี้ AI ยังทำหน้าที่ได้เสมือนเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเสริมกำลังและเติมเต็มทีมงานที่ให้บริการลูกค้า ขณะที่ลูกค้า จะได้รับบริการผ่านระบบแชตของ Mari ที่สามารถช่วยเปรียบเทียบดีไวซ์ หรือแม้กระทั่งช่วยแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคให้แก่ลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์

จาก AI-Ready สู่ AI-First

นางสาวศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้แบ่งปันมุมมองถึงแนวทางในการทรานสฟอร์มวัฒนธรรมองค์กร จากการเป็นองค์กรดิจิทัลก้าวล้ำไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI อย่างแท้จริง โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คนภายในปี 2568

นางสาวศรินทร์รา กล่าวว่า องค์กรจำนวนมากในประเทศไทย มีศักยภาพพร้อมประยุกต์ใช้ AI หรือ ‘AI Ready’ ซึ่งหมายความว่าองค์กรเหล่านี้มีข้อมูล (ดาต้า) ที่ถือครองเป็นของบริษัทและมีการริเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ แต่การที่จะเป็น ‘AI-First’ และสามารถนำ AI มาขับเคลื่อนองค์กร ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมบริการต่างๆ ได้นั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร จากเดิมที่ใช้ประสบการณ์เป็นพื้นฐานหรือมีผู้นำในการตัดสินใจ ไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ ซึ่งหากเราได้เห็นทีมงานที่พัฒนานวัตกรรม Mari ผู้ช่วยบริการลูกค้า AI อัจฉริยะ จะเห็นได้ว่าเป็นทีมงานที่มาจากแผนกต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันอย่างคล่องตัว ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านไอที การวิเคราะห์ข้อมูล การยกระดับประสบการณ์และงานบริการลูกค้า หรือแม้แต่หน่วยงานโรโบติกส์ที่พัฒนาหุ่นยนต์ Mari รุ่นใหม่ในรูปแบบ Humanoid อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบได้นั้น จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งองค์กรที่จะเป็น AI First จำเป็นต้องมีผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) ที่เข้าใจในเทคโนโลยีใหม่นี้ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกลพอที่จะดึงเทคโนโลยี AI มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร

ทั้งนี้ นวัตกรรมโซลูชัน AI ของทรู คอร์ปอเรชั่นนี้ เกิดขึ้นภายใต้ทิศทางการดำเนินธุรกิจที่บริษัทได้ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า AI มีความสำคัญอย่างไรที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายและความมุ่งมั่นในการสร้างโครงข่ายที่ทันสมัยและเหนือชั้น สามารถนำเสนอบริการในรูปแบบ Omnichannel พร้อมตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้แบบเฉพาะบุคคล ตลอดจนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งโชว์เคสและตัวอย่างกรณีศึกษาต่างๆ ในงาน ‘AI Gets Real’ นี้ ตอกย้ำจุดยืนของบริษัทในฐานะผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่สามารถพัฒนานวัตกรรมโซลูชันเพื่อส่งมอบคุณประโยชน์และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคและสังคมไทย

#AIGetsReal #ปัญญาประดิษฐ์ #AI #True5G #ThaiSMEs 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share