ดีแทค รักษ์โลก แนะทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านถังสีฟ้า ‘ทิ้งให้ดี’สู่เป้าZERO Landfillใน 5 ปี

จิรพรรณ บุญหนุน

กองบรรณาธิการ

ดีแทคร่วมมือกับบริษัท โทเทิ่ล เอ็นวิรอนเม้นท์ทัล โซลูชั่นส์ (Total Environmental Solutions) หรือ เทส กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์สู่เป้าหมายไม่มีเศษขยะที่เหลือไปฝังกลบ (ZERO Landfill) ในปี 2565 หลังเริ่มดำเนินการมาแล้ว 8 ปี

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า โครงการดีแทค ‘ทิ้งให้ดี’ เป็นทางออกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทมือถือและอุปกรณ์เสริมที่ใช้งานไม่ได้แล้วอย่างอย่างถูกวิธี ปลอดภัยต่อเพื่อนร่วมโลกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละปี ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม เป็นผู้จัดจำหน่ายมือถือหลายแสนเครื่องต่อปี บริษัทฯจึงมุ่งมั่นนำขยะมือถือจากผู้ใช้งาน ซึ่งคิดเป็น 19% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทคเก็บได้ เข้าสู่กระบวนการการรีไซเคิลและไม่มีเศษขยะที่เหลือไปฝังกลบ (ZERO Landfill) ซึ่งทำได้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 นอกจากนี้ ดีแทคยังเดินหน้าจัดกระบวนการควบคุมเพื่อนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของดีแทคเองโดยไม่ใช้วิธีฝังกลบเลย (ZERO Landfill) ภายในปี พ.ศ. 2565 ตามนโยบายด้านการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ หรือ Environment Management System and Climate ตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่ดีแทค

ดีแทค ‘ทิ้งให้ดี’ จัดการขยะโครงข่ายสัญญาณและอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินธุรกิจ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านโทรคมนาคม ส่วนใหญ่มาจากโครงข่ายสัญญาณ เฉพาะในปีพ.ศ. 2562 ดีแทคสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 213,476 ชิ้น แบ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับจากผู้ใช้งานทั่วไป จำนวน 46,221 ชิ้น คิดเป็น 21% และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการการขยายโครงข่าย 167,255 ชิ้น หรือคิดเป็น 79% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เก็บได้ ดีแทคให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เริ่มตั้งแต่สถานที่ที่ใช้เก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพ โดยจะต้องเป็นคลังสินค้าที่มีระบบการควบคุมรักษาความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานอาคารคลังสินค้าของกรมการค้าภายใน และสามารรองรับระบบการจัดเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ของดีแทคได้ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกับอุปกรณ์ จะไม่สร้างความเสียหายหรือมลภาวะใดๆ สู่ชุมชนรอบข้าง

สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากหน่วยงานภายในดีแทค อย่างศูนย์บริการดีแทคและสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องโทรศัพท์มือถือสำหรับทดลองใช้ อุปกรณ์เสริมที่ตกรุ่น เป็นต้น คิดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จากหน่วยงานภายในดีแทคประมาณ 200 ตันต่อปี และดีแทคจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจำนวนและสภาพของอุปกรณ์โดยเฉพาะ หากยังมีสภาพดี ก็จะนำกลับมาใช้ซ้ำในกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสม ส่วนที่เสื่อมสภาพถาวรแล้ว ก็จะเข้ากระบวนการกำจัดและรีไซเคิลต่อไป

สำหรับพันธมิตรดีแทคกับโครงการ ‘ทิ้งให้ดี’ บริษัทฯคัดเลือกบริษัทเทส (TES) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อคืนโลหะมีค่าและวัตถุดิบสำคัญ สู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ได้ 96-98% ของจำนวนขยะที่เก็บได้

ดีแทคและเทส หนึ่งในบริษัทรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทคเลือก ให้จัดการขยะอย่างมีความรับผิดชอบ

ดีแทคเริ่มต้นที่กระบวนการจัดหาบริษัทรีไซเคิลตามนโยบายการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการ ด้วยการประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ อาทิ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จะต้องลงนามในเอกสารว่าด้วยข้อตกลงในการปฏิบัติธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Agreement of Responsible Business Conduct และต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยระบุประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และต้องมีใบรับรองมาตรฐาน NIST 800-88R1 ซึ่งเป็นมาตรฐานการกำจัดข้อมูลต่างๆ ที่ยังอาจคงค้างอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก ดีแทคมีหน่วยงานกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Sustainability Management) ทำหน้าที่ตรวจประเมินบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการที่ได้รับคัดเลือกมานี้ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการรีไซเคิล มีการพัฒนาระบบการทำงานและเทคโนโลยีอยู่เสมอ

เส้นทางขยะเริ่มต้นที่ ถังสีฟ้า ‘ทิ้งให้ดี’ สู่เป้าหมาย Zero Landfill

ดีแทคทำงานร่วมกับเทสมานาน 8 ปี เมื่อเทสรับซากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่างๆ จากโครงการ “ทิ้งให้ดี” มาถึงยังโรงงานแล้ว เทสจะทำการตรวจนับและชั่งน้ำหนัก เพื่อรายงานจำนวนและน้ำหนักและสถานที่รับเพื่อแจ้งให้ดีแทคทราบและยืนยันว่าได้รับอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะนำเข้าพื้นที่จัดเก็บและจะทำการคัดแยกวัสดุตามประเภทหลักๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หูฟัง สายชาร์ตแบตเตอรี่ พาวเวอร์แบงค์ เป็นต้น เพื่อนำวัสดุหลักดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแกะแยก เช่น โทรศัพท์มือถือ หลังการแกะแยกจะทำการบรรจุวัสดุตามแต่ละประเภท วัสดุทั้งหมดจะถูกนำส่งออกไปยังโรงงานของเทสที่สิงคโปร์ เพื่อทำลายหน่วยความจำในเครื่อง และสกัดเป็นโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ ทองแดง พาราเดี้ยม เหล็ก อลูมิเนียม ลิเทียม และวัสดุประเภทพลาสติก เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ต่อไป ทั้งนี้ 96-98% ของขยะทั้งหมดที่ดีแทคเก็บได้สามารถนำเข้าสู่กระบวนกำจัดที่ถูกต้อง และช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือลดคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมทั้ง ไม่ทิ้งเศษซากขยะเป็นขยะฝังกลบเลย หรือ Zero Landfill ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555

ทำไมต้อง ‘ทิ้งให้ดี ทิ้งที่ดีแทค’

ผลการสำรวจพฤติกรรมการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อไม่ใช้งานแล้วของสำนักสิ่งแวดล้อม พบว่า กว่าร้อยละ 50% ของผู้ใช้งานจะเลือกขายซากขยะอิเล็กทรอนิกส์กับผู้รับซื้อของเก่า หรือ รถขายของเก่า ซึ่งมักจะนำขยะไปแยกชิ้นส่วน โดยจะเลือกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเพื่อนำไปขายต่อได้ และจะกำจัดซากขยะที่เหลือด้วยการทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ปัญหาสำคัญ คือ การทิ้งซากผลิตภัณฑ์ปะปนกับขยะทั่วไป และการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ

ด้าน Lux Scholte van Mast กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทเทิ่ล เอ็นวิรอนเม้นท์ทัล โซลูชั่น (Total Environmental Solutions) หรือ เทส ผู้ให้บริการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า บริษัทฯได้ให้บริการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันบริษัทฯมีสาขามากกว่า 30 แห่งใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยทุกแห่งได้รับมาตรฐาน ISO14001 OSHAH18001 ISO9001 และ ISO27001 ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทฯ ให้บริการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน โทรคมนาคม ประกันภัยและสถาบันการเงิน เป็นต้น

บริษัทฯ สามารถจัดการขยะรีไซเคิลที่หลากหลาย อาทิ แบตเตอรี่มือถือ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อมีการจัดการรีไซเคิลแล้วจะได้แร่ต่างๆ อาทิ ริเทียม และชิ้นส่วนที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์มือถือจำนวน 1,000 กิโลกรัมหรือ 1 ตันสามารถนำมารีไซเคิลและสกัดออกมาเป็นทองคำได้ 1 กรัม เป็นต้น และบริษัทฯสามารถจัดการรีไซเคิลขยะอีเล็กทรอนิกส์หรือ อีเวส (e-Waste) ได้มากกว่า 300 ตันต่อเดือนหรือมากกว่า 3,500 ตันต่อปี

#ดีแทค #dtac #TES #ทิ้งให้ดี #ZEROLandfill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share