กฎบัตรแห่งชาติ เล็งพัฒนา 10 เมืองอัจฉริยะ ด้าน UTE พร้อมลงทุน 500 ล้านบาทสิ้นปี

จิรพรรณ บุญหนุน

กองบรรณาธิการ

ฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนาย่านอัจฉริยะให้เป็นพื้นที่ต้นแบบว่า กฎบัตรเมืองอัจฉริยะ (Smart City Charter) คาดหวังในการใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปรับปรุงระบบกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสาธารณูปโภคของเทศบาล เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) อันเป็นต้นทางของการสร้างเมืองสุขภาพ (Healthy City) และเมืองเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน (Sustainable City) โดยข้อตกลงร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรประชาชน จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้ง การฟื้นฟูชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน

ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาเมืองอัจฉริยะใน 4 เทศบาลประกอบด้วย เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลนครระยอง โดยแต่ละเทศบาลจะพัฒนาพื้นที่บริเวณรัศมี 0.25 ตารางกิโลเมตร และมีระยะความยาวของถนนประมาณ 100 เมตร และภายในปีนี้กฎบัตรแห่งชาติ UTE และพันธมิตรมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่เป้าหมายอีก 6 เทศบาล รวมเป็น 10 เทศบาล ประกอบด้วย เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เทศบาลนครรังสิต เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองหัวหิน เทศบาลเมืองกระบี่ และเทศบาลเมืองทุ่งสง และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการในปี 2567 จะสามารถพัฒนาย่านอัจฉริยะจำนวนทั้งสิ้น 50 ย่านทั่วประเทศ

ส่วนขั้นตอนการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ย่านอัจฉริยะนั้น แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

• ขั้นตอนแรก กฎบัตรแห่งชาติจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการวางแผนและการออกแบบทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน

• ขั้นตอนที่สอง เทศบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ

• ขั้นตอนที่สาม บริษัทเอกชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้านดิจิทัล ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

• ขั้นตอนที่สี่ เทศบาลและชุมชน รับผิดชอบในการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูชุมชน การออกข้อกำหนดหรือเทศบัญญัติในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ย่านอัจฉริยะ

“กฎบัตรแห่งชาติ คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบจะปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว ภายหลังจากการลงทุนทั้งสี่ขั้นตอน หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นในย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี นับจากการลงทุนตามขั้นตอนเสร็จสิ้น” ฐาปนา กล่าวและว่า ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ทางด้าน พิรชัย เบญจรงคกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด (UTE) ภายใต้กลุ่มบริษัทเบญจจินดา กล่าวว่า UTE มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล และมีความพร้อมสนับสนุนความร่วมมือการพัฒนาประเทศร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อประโยชน์สูงสุดในการยกระดับทางเศรษฐกิจและการนำไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ UTE ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคม เสาอัจฉริยะ (Smart Pole) พร้อมแพลตฟอร์มบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเสาอัจฉริยะจะช่วยยกระดับการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการบริหารจัดการในระดับเมือง ซี่งเสาอัจฉริยะจะทำหน้าที่รับส่งข้อมูลอุปกรณ์ระหว่างตัวเสาไปยังแพลตฟอร์มส่วนกลางของเทศบาล สามารถแสดงผล ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงความสามารถอัจฉริยะในการป้องกันภัยและเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถาณการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่

ภายใต้ความร่วมมือกับโครงการย่านอัจฉริยะ บริษัทในปีนี้คาดว่าจะลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทในการติดตั้งเสาอัจฉริยะ (Smart Pole) เพื่อรองรับการให้บริการเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม อาทิ แพลตฟอร์ม CCTV ฟรีไวไฟ และจะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) มาช่วยในการประมวลการให้บริการของเมืองอัจฉริยะด้วยเพื่อให้สามารถบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับย่านหรือเมืองอัจฉริยะ

#กฎบัตรแห่งชาติ #ย่านอัจฉริยะ #SmartCityCharter #UTE #เสาอัจฉริยะ #SmartPole

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share