กองบรรณาธิการ
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยการเติบโตในปี 2566 พลิกกำไร 78.54 ล้านบาท มีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท หรือเติบโตสูงขึ้น 7.40% พร้อมเปิดโรดแมปตั้งเป้า Trusted Sustainable ASEAN Brand ใน 3 ปี สร้างแบรนด์เลิฟในใจคนไทย ยืนยันด้วยผลสำรวจความภักดี ความผูกพันและความไว้วางใจในแบรนด์ไปรษณีย์ไทย 2566 สูงถึง 96.3% ยกระดับเครือข่ายที่ทำการและบุรุษไปรษณีย์ พร้อมด้วยความแตกต่าง ทั้งด้านคุณภาพและการสร้างประสบการณ์ในการใช้บริการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายรายได้รวมปี 2567 ไว้ที่ 22,802 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 350 ล้านบาท จากกลุ่มบริการหลัก ได้แก่ บริการไปรษณีย์ บริการขนส่งและโลจิสติกส์ บริการค้าปลีก บริการการเงิน เสริมทัพด้วยทรัพยากรที่มีศักยภาพ อาทิ เครือข่ายไปรษณีย์ที่ครอบคลุมกว่า 50,000 แห่ง ทีมพี่ไปรฯ Postman Cloud การเปิดศูนย์ไปรษณีย์ เพิ่มโมเดลการแสวงหารายได้ใหม่ที่ยั่งยืน เช่น การให้บริการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบ ครบวงจร ภายใต้แบรนด์ Prompt Post การพัฒนาสินค้า House Brand ภายใต้สินค้าตราไปร
โดยปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทย ได้จำหน่ายสินค้าตราไปร 3 รายการ ประกอบด้วย น้ำ ข้าว และกาแฟ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะนำสินค้าใหม่เข้ามาเสริมด้วย
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดขนส่งในปีที่ผ่านมาถือว่ายังมีการเติบโตตามอานิสงส์ของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากการให้บริการกับตลาดต่าง ๆ รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยมีการเติบโตทั้งด้านรายได้และปริมาณชิ้นงานขนส่งที่เพิ่มขึ้น ในปี 2566 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 7.40% โดยมีกำไร 78.54 ล้านบาท รายได้หลักมาจากธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 19.35% โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาจากการให้บริการที่ครอบคลุมผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม จุดให้บริการที่สะดวกง่ายต่อการเข้าถึง พัฒนาประสบการณ์ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นคุณภาพตลอดกระบวนการให้บริการ นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังเห็นโอกาสจากการให้บริการค้าปลีกและการเงิน จึงพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยในกลุ่มบริการนี้มีรายได้เติบโตขึ้น34.26% ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ไปรษณีย์ไทยให้ความสำคัญและพร้อมต่อยอดโซลูชันการให้บริการที่มากขึ้นในปีนี้
“โรดแมพใน 3 ปี ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าเป็น Trusted Sustainable ASEAN Brand ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือแห่งอาเซียน โดยปี 2567 ได้ปรับวิสัยทัศน์เป็น ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ Delivering Sustainable Growth through Postal Network พร้อมวาง 10 ความโดดเด่นและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งเน้นคุณภาพ หลีกเลี่ยงสงครามราคา การปรับภาพจำของแนวทางการดำเนินงานแบบรัฐวิสาหกิจไปสู่เอกชน พร้อมพัฒนา Logistics Company ให้ก้าวสู่ Information Logistics Company ที่นำข้อมูลมาปรับปรุงต่อยอดบริการให้ตรงใจ รวมทั้งบูรณาการข้อมูลที่มีอยู่ให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน การยกระดับสัมพันธภาพที่ดีให้เป็นความเชื่อมั่น การขยายฟังก์ชันการทำงานของบุรุษไปรษณีย์ หรือ Postman
สู่ Post – Gentleman as a service ที่พร้อมให้บริการในหลากหลายด้าน และปรับสนามการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดขนส่งโลจิสติกส์
ดร.ดนันท์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ วางไว้ที่ 22,802 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 350 ล้านบาทจากกลุ่มบริการหลัก ได้แก่ บริการขนส่งและโลจิสติกส์ บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการค้าปลีก
บริการการเงิน และบริการคลังสินค้า เป้าหมายที่ตั้งไว้จะเกิดขึ้นได้จากทรัพยากรที่มีศักยภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ได้แก่ เครือข่ายไปรษณีย์ที่ครอบคลุมแล้วกว่า 30,000 แห่ง ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดจุดให้บริการไปรษณีย์ไทย@ธงฟ้า ตั้งเป้า 20,000 แห่ง ภายในปี 2567 ด้วยบุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่กว่า 25,000 คน ที่สามารถให้บริการได้ตลอด 365 วัน การเปิดศูนย์ไปรษณีย์สกลนครเพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณงานในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน การแสวงหารายได้ใหม่ที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็น บริการ Prompt Post ที่เตรียมเปิดให้ร่วมทายผลฟุตบอลยูโร 2024 บริการ e-Timestamp e-Signature e-Seal ส่งเสริมความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล (Digital Post Box) การใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์ให้บริการในรูปแบบ Postman as a Service เช่น การสำรวจสินทรัพย์ การรับส่งสิ่งของแบบ On Demand การรุกขายสินค้าตัวท้อปใกล้ไกลบนแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ท นอกจากนี้ ยังมีสินค้า House Brand เช่น กาแฟ ข้าวสาร น้ำดื่ม ตราไปร จากการคัดสรรสินค้าคุณภาพดีมานำเสนอให้กับผู้บริโภค โดยในช่วงมี่ผ่านมามีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า House Brand ได้มากกว่า 20 ล้านบาท
ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมในปี 2567 ธุรกิจไปรษณีย์ – ขนส่งจะยิ่งทวีความสำคัญ เนื่องจากเป็นหนึ่งในภาคบริการที่เชื่อมต่อกันทั้งเศรษฐกิจและสังคม ไปรษณีย์ไทยจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างที่ตอบสนองความต้องการระยะยาว จากการเป็นผู้ที่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงความตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาด Niche Market ในการให้บริการขนส่งสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น ผลไม้และผลผลิตเกษตร สิ่งของขนาดใหญ่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ ยาและเวชภัณฑ์
การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารระวางการขนส่ง ลดต้นทุน เพิ่มความแม่นยำ ติดตามได้แบบเรียลไทม์ การเพิ่มประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะบริการที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า ทุกกลุ่ม บริการจัดส่งทุกวันไม่มีวันหยุด การปรับรูปแบบการจ่าหน้าให้เป็นดิจิทัล การให้บริการคลังสินค้าครบวงจร และมีแผนที่จะเปิดตัวบริการ Digital mailbox ซึ่งเป็นการนำจ่ายเอกสารของไปรษณีย์ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างการส่งเอกสารในรูปแบบเดิมที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการติดต่อกับลูกค้า คาดว่าจะสามารถเปิดบริการใหม่ได้ในไตรมาสสามปีนี้
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้น บริการระหว่างประเทศ ด้วยการขนส่งสินค้าทางราง ทางอากาศ หรือ Cargo Mode
บริการ Courier Lite และเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการให้กับลูกค้าให้สามารถใช้ช่องการชำระเงินค่าสินค้า – บริการผ่านแอพพลิเคชัน We Chat และ Ali Pay ที่จะเริ่มในไตรมาสที่ 2 ปีนี้
ทั้งนี้ ในปี 2566 ไปรษณีย์ไทยมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 45.56% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 33.85% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.43% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.90% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.96% และรายได้อื่น ๆ 1.30% และในปี 2567 ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.12% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 32.48% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.98% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 5.10% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.90% และรายได้อื่น ๆ 1.42% ดร.ดนันท์ กล่าวและว่า
ไปรษณีย์ไทย มีแผนที่จะผนวกการขนส่ง โลจิสติกส์ร่วมกับประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเชียนจัดการขนส่งในรูปแบบของ One ASEAN เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ภายในประเทศสมาชิก โดยในระยะแรกได้เจรจาความร่วมมือกับไปรษณีย์ลาวและไปรษณีย์เวียดนาม ในการจัดทำแพลตฟอร์มทางด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ร่วมกันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลง
นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทย ยังตั้งงบลงทุนในปี 2567 ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงมีการนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในการนำจ่ายของบุรุษไปรษณีย์ในปีนี้ 250 คัน และตั้งงบประมาณการลงทุนใน 3 ปี ที่ 5,000 ล้านบาท
“คู่แข่งของไปรษณีย์ คือพฤติกรรมของผู้บริโภค นั่นคือคู่แข่งคนเดียวของไปรษณีย์ไทยตราบใดที่เราสามารถแข่งกับผู้บริโภคสำเร็จนั่นหมายความว่าเราไม่ต้องไปตามใคร ผู้บริโภคคือคู่แข่งของเรา โปรดักส์ของไปรษณีย์ไทย คือ ประสบการณ์ของลูกค้า” ดร.ดนันท์ กล่าว
#ไปรษณีย์ไทย #ThaiSMEs