กองบรรณาธิการ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาก จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.91-36.20 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผลการประชุม FOMC สะท้อนว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (ตามที่เราประเมินไว้) ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นกว่า +40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผลการประชุม FOMC ของเฟด ได้ย้ำภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing (ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย) อีกทั้งเฟดก็ยังมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในหุ้นเทคฯ ใหญ่ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.25% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.89%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟดที่จะมาหลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันบ้าง จากการขายทำกำไรบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม และหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ LVMH -1.6%, Total Energies -1.7%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.27% หลังผลการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด ยังคงสะท้อนว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ และมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาว (Longer run) ก็ไม่ได้แตกต่างจากคาดการณ์ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไปมากนัก อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ย่อตัวลงไปมาก เพราะบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รับรู้ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ในปีนี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟดก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เพราะเฟดดำเนินนโยบายการเงินแบบ Data dependent ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญได้ ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็จะทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ ทว่า เราคาดว่า แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดยังเป็นขาลง แม้อาจจะมีความเสี่ยงของธีม Higher for Longer บ้าง ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ จาก Risk-Reward ที่ยังมีความน่าสนใจของการถือบอนด์ระยะยาว ในจังหวะดอกเบี้ยขาลง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC ที่ย้ำว่า เฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ ตามเดิม นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.2-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นใกล้โซน 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ จะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักเหล่านี้ได้
นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราคาดว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ตามเดิม ทว่า มีโอกาสที่ BOE จะเริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งหาก BOE มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นต่อการลดดอกเบี้ย ก็อาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ให้ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยจะขึ้นกับการส่งสัญญาณว่า BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงเมื่อไหร่ ช้า หรือ เร็วกว่าเฟด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่ยังไม่สามารถทะลุโซนแนวต้านสำคัญ (Triple Tops) 36.20 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ก็อาจสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าก็อาจจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก เงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟดในการประชุมเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากทั้งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ตามบรรยากาศในตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ได้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ และผลการประชุม BOE ที่อาจทำให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้ หาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยในปีนี้
เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.05 บาท/ดอลลาร์
#กรุงไทย #ค่าเงินบาท #ThaiSMEs