กองบรรณาธิการ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากช่วงเช้า ที่ได้แรงหนุนจากการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ อาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ส่วนในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทก็ยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ จากท่าทีของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ต่างส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ส่วนรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสที่ย้ำจุดยืน ลดดอกเบี้ยได้ แต่ยังไม่รีบ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเช่นกัน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังบรรดาธนาคารกลางหลักต่างส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปี ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นร้อนแรง อาทิ Nvidia +4.5%, Meta +3.3% (สวนทางกับคาดการณ์ของเราที่มองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานในคืนวันศุกร์) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.51% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.03%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.99% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +4.1% ท่ามกลางความหวังว่า ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ผลการทดลองยาลดน้ำหนักของทาง Novo Nordisk ที่ออกมาสดใส ก็ช่วยหนุนให้ราคาหุ้นบริษัทปรับตัวขึ้นแรง +8.3% และช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรป
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 4.10% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานต่อเนื่อง และการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟดและ ECB ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ ที่อาจพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาดและเรา อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำว่าการลดดอกเบี้ยสามารถเกิดขึ้นได้ในปีนี้ เพียงแต่เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังว่า BOJ อาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.8-103.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของบรรดาธนาคารกลางหลักที่ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ย ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อ เหนือระดับ 2,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น (ทำให้ราคาทองคำในสกุลเงินบาท อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก เมื่อเทียบกับราคาทองคำในสกุลเงินดอลลาร์)
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลสำคัญตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls), อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings, %y/y) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเช่นกัน เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้เรายังคงมุมมองเดิม ว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways down แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะหลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อเงินบาทอยู่บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้เร็วและแรง หากข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาดและเรา (ต้องเห็นยอดการจ้างงาน Nonfarm Payrolls เพิ่มขึ้น มากกว่า 2.5 แสนราย และหากเพิ่มขึ้น ราว 3 แสนราย ก็จะยิ่งกดดันเงินบาทได้พอสมควร)
อนึ่ง สมมติฐานของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดหวังว่า BOJ จะเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ก็อาจยังพอช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ไม่ได้อ่อนค่ารุนแรง ซึ่งจะช่วยลดทอนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ตลาดอาจรอจังหวะเงินเยนผันผวนอ่อนค่า หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ในการเพิ่มสถานะ Long JPY (มองเงินเยนแข็งค่าขึ้น) ก่อนที่จะไปทยอยลดสถานะดังกล่าวในช่วงเข้าใกล้การประชุม BOJ เดือนมีนาคม ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคมนี้
นอกจากนี้ ควรระวังแรงเทขายราคาทองคำในคืนนี้เช่นกัน หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง จากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่โซน Overbought และเสี่ยงต่อการปรับฐานรุนแรงในระยะสั้นได้ ทำให้เรามองว่า ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นในช่วง 35.35-35.80 บาทต่อดอลลาร์
เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ
และประเมินกรอบเงินบาท 35.35-35.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ
#KrungthaiGLOBALMARKETS #ธนาคารกรุงไทย #ThaiSMEs